หลังจากที่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่างลง จึงเป็นที่จับตาว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวง ก่อนอื่นเราก็มาดูก่อนว่า ภาระกิจของกระทรวงคืออะไร ถ้าอ่านจากชื่อแล้วก็คือ เพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัล
หากรัฐบาลยุคนี้จะต้องยึดโยงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ประกอบไปด้วย 6 ด้าน
ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง
ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
ยุทธศาสตร์ชาติ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
มาดูทีละด้านที่ผ่านมา
ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง ที่ผ่านมาผมให้สอบตกในเรื่องของ การรักษาความสงบภายในประเทศ เพราะปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีสร้างความแตกแยกยังคงมีอยู่
การป้องกันและการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ที่ผ่านมานโยบายในด้านนี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการปิดเว็บ แต่ในเรื่องของภัยคุกคามทางดิจิทัลที่เกิดใหม่ ที่ใกล้ตัวประชาชน อย่างเช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปราบปรามได้น้อยมาก
สอบผ่านผลงานที่ออกมาอย่างกฏหมาย คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การปิดเว็บ การปิดกลุ่ม และ การควบรวม บริษัท CAT กับ TOT มาเป็น NT
ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในด้านนี้เราจะเห็นการส่งเสริม Tech Startup เกิดขึ้นมากมายก็ถือว่าอยู่ในยุทธศาสตร์หัวข้อพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ แต่พอประสบกับปัญหา Corona Virus กลับไม่มีกลไกในการเยียวยาอาชีพโปรแกรมเมอร์ แต่กลับบอกว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีความเสี่ยง การเข้าถึงแหล่งเงินกู้หรือ Soft loan ที่ภาครัฐออกมาปรากฏว่าทั้ง SME และ Startup ไม่ผ่านเกณฑ์หรือพบกับคำตอบที่ว่าวงเงินเต็ม
ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีความชัดเจนในเรื่องของ อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงนี้โดยตรง เช่น บริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ เกษตรอัจฉริยะ อุปสรรคสำคัญของประเทศคือขาดบุคลากร ขาดการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐจะช่วยได้ อุปสรรคทางกฏหมาย กฏหมายบางฉบับใช้มาแล้ว 40 ปี ระบบที่ยังยึดติดกับเอกสาร และ ระบบการประเมินภาษีจากการนำเข้าสินค้าที่สูงเกินกว่าราคาสินค้า หลายคนกล่าวว่า Startup ไทย ไม่สวยใส เหมือน ซีรีส์เกาหลี
ความสามารถในการแข่งขั้น ที่ผ่านมารัฐสอบตกเรื่องนี้ การส่งเสริมไม่รวดเร็วพอ กฏหมายชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นไทยก็มีการจำกัดห้ามเกิน 49% คนไทยต้องถือหุ้น 51% เรื่องนี้ทำให้การเข้ามาลงทุนกับ Start up ไม่เป็นที่จูงใจ บางบริการภาครัฐก็แข่งขันกับภาคเอกชน การเข้าถึงการส่งเสริมภาครัฐก็กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม
ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงดิจิทัล เพราะบุคคลกรด้านดิจิทัล ของเราขาดแคลนแต่กลับพบว่านโยบายบางกระทรวงไม่ส่งเสริมให้ราชการฝึกอบรมกับเอกชน ถึงให้มาก็เบิกค่าอบรมได้น้อยมากและเขียนกฏระเบียบไว้ใน รพบ. เบิกจ่ายที่ใช้มาแล้วยี่สิบกว่าปี ไม่สอดคล้องกับสังคมและเศรษฐกิจ เช่นค่าฝึกอบรมกับเอกชนเบิกได้วันละ 600 บาท แล้วจะพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างไร
ยุทธศาสตร์ชาติ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เรื่องของการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี เรื่องนี้ยังเป็นความพยายามที่รัฐกำลังดำเนินการ อย่างเช่น โครงการ EEC ที่จังหวัดระยอง แต่ในด้านการศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของนักเรียนชนบทห่างไกลยังขาดแคลนคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ อยู่อีกมาก คอมพิวเตอร์ที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐก็เก่าจนใช้การไม่ได้ก็ยังมีให้เห็น ทั่วไป อินเตอร์เน็ตประชารัฐก็เข้าถึงแต่ไปหยุดอยู่ที่ อบต. ไม่ได้กระจายต่อลงไปในชุมชน หรือพัฒนาต่อในโครงการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชน
ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเราแทบไม่เห็นว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะสัมผัสด้านนี้เลย เช่นการแก้ปัญหา ค่าฝุ่นละออง จากโรงงานอุตสาหกรรม จากรถยนต์ จากการเผาไร่ ไฟป่า
ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ในด้านนี้เราพอจะเห็นเรื่องของการสร้างองค์กรรัฐให้มีความโปร่งใส ด้วยการรณรงค์ให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูล การบริหารองค์กร เปิดเผยการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภายนอกองค์กรและภายในองค์กร และเราก็จะเห็นว่าภาครัฐเริ่มมีโครงการ https://data.go.th เพื่อเปิดเผยข้อมูล การบริหาร การใช่งบประมาณ การบริหารบุคลากร ข้อมูลต่างๆของภาครัฐ และเราจะเห็นเว็บ http://govspending.data.go.th
และโครงการเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่าภาครัฐกันเองเพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน เช่นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ภาคธุรกิจสามารถเชื่อมต่อข้อมูลออกใบเสร็จหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้ถูกต้อง การชำระภาษีนิติบุคคลที่ทำธุรกรรมออนไลน์ได้
ดังนั้นคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ต้องเป็นคนที่จะมองภาพรวมของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อดำเนินนโยบายให้ตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศ ควรที่จะมีความรู้ความสามารถไม่ใช่แค่วุฒิการศึกษาจบตรง เพราะเรามักจะพบว่านโยบาย มักจะชงมาจากข้าราชการที่ส่งโครงการ ส่งงบประมาณไปให้พิจารณา ดังนั้นเราก็จะเห็นว่า ทั้งหกด้านของยุทธศาสตร์ชาติ จะไม่เข้าประเด็นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีใครชงเรื่องหรือ โครงการให้รัฐมนตรีก็ไม่ได้เกิดโครงการ ดังนั้นรัฐมนตรีต้อง เป็นผู้กำหนดนโยบายเป็นด้วย และ เสริมโครงการจากภาครัฐให้ครอบคุม และส่งเสริมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ต้องเป็นรัฐมนตรีที่มองเห็นความสามารถของคนในประเทศว่าเราก็มีศักยภาพทางการแข่งขั้นเพียงแต่ขาดโอกาส มองเห็นปัญหาจากโครงสร้างราชการ ปัญหาจากกฏหมายที่ล้าหลัง รับฟังปัญหาเพื่อนำไปแก้ไข ไม่ใช้รับฟังปัญหาเพื่อให้เป็นกิจกรรมหนึ่งในการ ทำงานเท่านั้น แล้วทุกอย่างก็เงียบไปหลังจากการประชุมกับผู้ประกอบการจบลง
อย่าให้คำว่าการแก้กฏหมายเป็นเรื่องยากเพราะจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของสภา หากทำไม่ได้แล้วหน้าที่นี้จะเป็นของใคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น